News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

เดชอิศม์ ชี้ น้ำประปาเชียงใหม่จากการประปาส่วนภูมิภาคยังมีความปลอดภัย

 นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึง สถานการณ์การตรวจพบสารหนูและตะกั่วปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก บริเวณบ้านแก่งตุ้ม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมอนามัยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อมูลและติดตามคุณภาพน้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พบว่า น้ำประปาเชียงใหม่จากการประปาส่วนภูมิภาคยังมีความปลอดภัย แต่ยังคงแนะนำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการใช้น้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากสารปนเปื้อน และในส่วนของน้ำประปาหมู่บ้านที่อาจมีการปนเปื้อนได้

         แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับบางพื้นที่ที่ใช้น้ำประปาหมู่บ้าน หากมีความกังวลใจว่าจะมีปนเปื้อนหรือไม่ สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ด้วยชุดทดสอบสารหนูภาคสนามที่มีจำหน่ายทั่วไป และควรหลีกเลี่ยงการนำน้ำจากแหล่งที่มีการปนเปื้อนมากิน และใช้ กรณีแหล่งมีน้ำดิบที่มีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารหนู อาจมีวิธีบำบัดหรือลดระดับสารหนูให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยได้ โดยการเติมอากาศลงในน้ำและใช้สารส้ม หรือ เกลือสังเคราะห์ของอลูมิเนียมคลอไรด์ หรือ ใช้คลอรีนร่วมกับเฟอร์ริคคลอไรด์ เพื่อช่วยตกตะกอนสารหนู ซึ่งจะทำให้สารหนูที่อยู่ในรูปสารประกอบอนินทรีย์ (As3+) เปลี่ยนเป็นสารประกอบอินทรีย์ (As5+) ทำให้กำจัดได้ง่าย และสามารถกรองออกโดยผ่านกรองทราย หรือดูดซับถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) หรือ เรซิ่นชนิดแลกเปลี่ยนประจุลบ (Anion Exchange Resin) ก่อนนำมาใช้ ที่สำคัญควรมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำหลังการบำบัด เป็นระยะ เช่น ตรวจค่าคลอรีนอิสระตกค้าง (free chlorine) หรือทำชุดทดสอบง่ายๆ รวมทั้ง ในพื้นที่ควรมีการจัดอบรมให้ประชาชนในชุมชนให้มีความรู้ ความเข้าใจเบื้องต้นเรื่องการจัดการน้ำสะอาดและปลอดภัย

        ด้านนายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยกระบวนการ ตกตะกอน กรอง และเติมคลอรีน ประชาชนสามารถทำได้เอง ดังนี้ 1) การตกตะกอน (Sedimentation) โดยใช้ภาชนะขนาดใหญ่ เช่น ถังหรือโอ่ง พักน้ำไว้ 6–12 ชั่วโมง เพื่อให้ตะกอนหนักตกลงก้นถัง เพิ่มประสิทธิภาพด้วยการใส่สารช่วยตกตะกอน เช่น สารส้ม (Alum) ในอัตรา 30–60 มก./ลิตร คนให้ละลาย แล้วปล่อยให้น้ำตกตะกอน 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง 2) การกรอง (Filtration) ด้วยการทำ “ถังกรองแบบชั้นกรวด-ทราย” ใช้ทรายหยาบ ทรายละเอียด และกรวดเรียงกันในถังหรือท่อ PVC ชั้นล่าง เป็นกรวดขนาดใหญ่ (รองพื้น) ชั้นกลางเป็นกรวดละเอียด ชั้นบนเป็นทรายละเอียด วิธีใช้งานโดยการปล่อยน้ำไหลช้าๆ ผ่านถังกรองเพื่อเอาสารแขวนลอยและจุลินทรีย์บางส่วนออก 3) การเติมคลอรีน (Chlorination) โดยใช้ผงปูนคลอรีน (Calcium Hypochlorite) หรือ น้ำยาฆ่าเชื้อ (เช่น ไฮเตอร์ที่ไม่มีสารปรุงแต่ง) เติมคลอรีนให้มีความเข้มข้น 0.5 – 1 มก./ลิตร และรอให้ทำปฏิกิริยา 30 นาที หรือวิธีง่ายที่สุดด้วยการหยด ไฮเตอร์ 1 หยด ต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร แล้วรอ 30 นาที แต่ต้องเป็นไฮเตอร์ที่ไม่มีน้ำหอมและสารปรุงแต่งอื่นเท่านั้น



***

เขียนเมื่อ 08 เมษายน 2568 15:54:48 น. (view: 12156)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง