News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
เตรียมตัวให้พร้อม ! ทดสอบการแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast ครั้งแรกของไทย ในวันที่ 2, 7 และ 13 พ.ค. 68 เช็คเลยพื้นที่ไหน เน้นย้ำอย่าตื่นตระหนก เมื่อได้ยินเสียงเตือน ดังขึ้น
เตรียมตัวให้พร้อม ! ทดสอบการแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast ครั้งแรกของไทย ในวันที่ 2, 7 และ 13 พ.ค. 68 เช็คเลยพื้นที่ไหน เน้นย้ำอย่าตื่นตระหนก เมื่อได้ยินเสียงเตือน ดังขึ้น
วันนี้ (23 เมษายน 2568) เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานแถลงข่าวการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เตรียมทดสอบระบบในช่วงวันที่ 2, 7 และ 13 พฤษภาคม 2568 ในพื้นที่ ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยและพัฒนาปรับปรุงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในอนาคต จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เพื่อใช้เป็นช่องทางในการแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนอย่างรวดเร็ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จึงร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ AIS True และ NT เตรียมความพร้อมในการใช้งานระบบการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast โดยได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน (SOP) และมาตรฐานข้อความในการแจ้งเตือนภัยที่กระชับ ชัดเจน เข้าใจง่าย ประชาชนอ่านแล้วเข้าใจทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น และจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรให้ปลอดภัยจากสถานการณ์ภัย
ทั้งนี้ ปภ. กำหนดวันทดสอบในวันที่ 2 , 7 และ 13 พ.ค.68 ที่จะถึงนี้ โดยแบ่งการทดสอบเป็น 3 ระดับ
ระดับเล็ก (ภายในอาคาร) วันศุกร์ที่ 2 พ.ค. 68 เวลา 13.00 น. ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลากลางจังหวัดสงขลา และอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคาร A และอาคาร B กรุงเทพมหานคร
ระดับกลาง ( ตัวเมือง ) วันพุธที่ 7 พ.ค. 68 เวลา 13.00 น. ใน 5 พื้นที่ ประกอบด้วย อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ อ.เมืองนครราชสีมา จ. นครราชสีมา อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
ระดับใหญ่ (ระดับจังหวัด) วันอังคารที่ 13 พ.ค. 68 เวลา 13.00 น. ใน 5 พื้นที่ ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ จ.อุดรธานี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร
“การแจ้งเตือนภัยด้วยระบบ Cell Broadcast คืออะไร การส่งข้อความหรือสัญญาณตรงไปยังพื้นที่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับข้อความแจ้งเตือนภัยอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม การแจ้งเตือนภัยด้วยระบบ Cell Broadcast ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากระบบนี้จะใช้งานได้บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G และ 5G ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชัน 11 ขึ้นไป และระบบปฏิบัติการ IOS ที่อัปเดตเป็น IOS 18 แล้วเท่านั้น ดังนั้นขอให้ประชาชนทำการอัปเดตเวอร์ชันของระบบปฏิบัติการให้เป็นปัจจุบัน ในส่วนของโทรศัพท์ 2G 3G รวมถึง Iphone 10 ลงมาที่ไม่สามารถอัปเดตเวอร์ชันเป็น IOS 18 ได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะใช้วิธีการแจ้งเตือนภัยผ่านข้อความสั้น (SMS) เพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าว โดย ปภ. จะกำหนดข้อความแจ้งเตือนและพื้นที่ที่ต้องการส่งข้อความให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเพื่อทำการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนต่อไป ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า ปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ หาแนวทาง ขั้นตอน ตลอดจนวิธีการปฏิบัติงานที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทุกคนได้อย่างครอบคลุม” นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าวปิดท้าย
การแจ้งเตือนภัยด้วยระบบ Cell Broadcast ถือเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและผลักดันให้มีระบบการแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ เติมเต็มช่องว่างของการแจ้งเตือนภัยรูปแบบเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้การส่งข้อมูลการแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นไปอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ผ่านการส่งเสียงสัญญาณพร้อมข้อความแจ้งเตือนภัยไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนโดยตรง ทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ คนในพื้นที่หรือคนที่เดินทางมาท่องเที่ยว ได้รับข้อความแจ้งเตือนอย่างทั่วถึง สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง และอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสาธารณภัยและเหตุฉุกเฉินได้อย่างมหาศาล ///////////
เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2568 08:47:43 น. (view: 24)