News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

สสจ.เชียงใหม่ เตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก และการชำแหละหรือสัมผัสสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อป้องกันการติดโรคแอนแทรกซ์“หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้”

สสจ.เชียงใหม่ เตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก และการชำแหละหรือสัมผัสสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อป้องกันการติดโรคแอนแทรกซ์“หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้”



นายแพทย์วรัญญู จำนงประสาทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax)  หรือโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลัน เกิดจากเชื้อ Bacillus anthracis ที่พบในสิ่งแวดล้อมและสัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ สามารถแพร่สู่คนได้หากสัมผัสสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น การชำแหละเนื้อสัตว์ การบริโภคเนื้อสัตว์ดิบ หรือปรุงไม่สุก หรือการสัมผัสกับหนังสัตว์หรือขนสัตว์ที่มีสปอร์ของเชื้อ โรคนี้ยังไม่มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งเชื้อสามารถแพร่ได้ 3 ทาง คือ 1. การสัมผัสจากการชำแหละสัตว์ที่ป่วยตายจากโรคนี้ ผู้ป่วยจะติดเชื้อโดยสปอร์ของเชื้อเข้าสู่บาดแผลและรอยถลอก จะเริ่มมีอาการป่วยหลังสัมผัสโรคประมาณ 1 - 7 วัน หรืออาจจะมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับตัวโรคและคนที่ได้รับเชื้อ รอยแผลเริ่มจากเป็นตุ่มที่ผิวหนัง ตามมาด้วยตุ่มน้ำใส และแตกออกกลายเป็นแผลหลุมสีดำ คล้ายบุหรี่จี้ หากไม่ได้รับการรักษาจะมีการลุกลามของเชื้อไปยังต่อมน้ำเหลือง 

และกระจายไปตามกระแสเลือดทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษได้ 2. การรับประทานเนื้อสัตว์ดิบที่ปนเปื้อนเชื้อหรือปรุงไม่สุก อาจจะติดเชื้อในทางเดินอาหาร มีอาการไข้สูง ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาจติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เสียชีวิตได้ และ 3. การสูดหายใจเอาสปอร์ของแอนแทรกซ์เข้าไป โดยเชื้อจะปนเปื้อนอยู่บริเวณที่สัตว์ป่วยหรือเสียชีวิต สามารถฝังตัวอยู่ได้เป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ไอ หายใจลําบาก หน้าเขียวคล้ำ และเสียชีวิตจากอาการของระบบหายใจล้มเหลว

       นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยในจังหวัดเชียงใหม่ แต่พบผู้ป่วยยืนยันสะสมที่จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันโรคล่วงหน้า

จึงขอให้ประชาชนควรระมัดระวังและสังเกตอาการสัตว์ที่เลี้ยง โดยเฉพาะวัว ควาย แพะ แกะ หากมีอาการป่วยผิดปกติ หรือสัตว์ตาย ไม่ควรชำแหละเนื้อ แต่ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อเข้ามาตรวจสอบ สำหรับการป้องกันแนะนำให้ใส่ถุงมือในการชำแหละหรือปรุงเนื้อสัตว์ และล้างมือให้สะอาด ส่วนอาหารควรปรุงให้สุก เลือกซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งที่เชื่อถือได้และได้มาตรฐาน หากพบอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ 053211048-50 ต่อ 108

เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2568 16:27:09 น. (view: 22)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง