News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
เกษตรจัดแต่งงานผึ้งกับดอกลำไยแปลงใหญ่ต้นแบบที่ อ.สันป่าตอง เชียงใหม่ รับวาเลนไทน์ เพิ่มคุณภาพทั้งลำไยและผึ้งเศรษฐกิจ
เชียงใหม่ 14 ก.พ.- ที่สวนลำไยแปลงใหญ่ของนายประจวบ ทาก๊า ศูนย์การเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ผล(ลำไย) บ้านหมู่ 10 ต.แม่ก๊า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ แปลงต้นแบบแห่งแรกในการส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการนำผึ้งมาช่วยผสมเกสรดอกลำไยให้มีคุณภาพและปลอดภัย นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร มาเป็นประธานเปิดโครงการประชาสัมพันธ์เทคโนโลยีการผสมเกสร เพิ่มผลผลิตลำไยด้วยผึ้ง ซึ่งได้ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ต้องการของตลาด การจัดงานจึงคาดหวังให้เกษตรกรผู้สนใจได้รับองค์ความรู้ในการใช้ผึ้งช่วยผสมเกสรเพิ่มผลผลิตลำไย รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องเหมาะสม ส่งผลให้เกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความมั่นคงในอาชีพต่อไป เพราะจากแปลงต้นแบบเกษตรกรมีค่าใช้จ่ายลดลงอย่างมากเกินกว่าครึ่งจากปกติและยังมีรายได้เพิ่มอีกกว่าเท่าตัวเพราะไม่ใช่แค่ผลผบิตคุณภาพจากลำไยยังมีผลิตภัณฑ์จากผึ้งอีกหลากหลายชนิดด้วย
โอกาสวันแห่งความรักปีนี้จึงถือเป็นฤกษ์ดีเป็นสัญญลักษณ์เหมือนพิธีแต่งงานให้ผึ้งกับดอกลำไยเป็นทางการครั้งแรกของประเทศ
สำหรับข้อมูลสถานการณ์ลำไยของจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2563 พบว่า ภาคเหนือ มีพื้นที่ปลูกลำไย ประมาณ 869,447 ไร่ เป็นพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว ประมาณ 857,036 ไร่ จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด คือ เชียงใหม่ ประมาณ 318,291 ไร่ รองลงมาคือ ลำพูน 269,712 ไร่ และเชียงราย 139,557 ไร่
โดยจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่เพาะปลูกลำไย ประมาณ 318,291ไร่ เป็นพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว ประมาณ 311,018 ไร่
เป็นพื้นที่นอกฤดู 113,550 ไร่ และ พื้นที่ในฤดู 197,468 ไร่ สัดส่วนนอกฤดู : ในฤดู ร้อยละ 36.5 : 63.5 คาดการณ์ผลผลิตปี 2563 หากไม่มีสภาวะฝนแล้ง จะมีผลผลิตประมาณ 286,389 ตัน แบ่งเป็นในฤดู 159,554 ตัน และ ผลผลิตนอกฤดู 126,835 ตัน ซึ่งจากการลงพื้นที่จะพบว่า ปีนี้มีอากาศหนาวเย็นยาวนาน ส่งผลให้ลำไยออกดอกมากกว่าปีที่ผ่านมา และลำไยคาดว่าปีนี้จะมี 2-3 รุ่น เนื่องจากเกษตรกรบางรายสศได้ราดสารโปตัสเซียมคลอเรท ในช่วง เดือน พ.ย.-ธ.ค. ส่งผลให้บางพื้นที่มีการออกดอก (สารภี สันป่าตอง
หางดง บางพื้นที่ไม่มีการออกดอก (แม่แตง สันทราย ดอยหล่อ จอมทอง) และยังพบว่า บางพื้นที่มีการราดสารฯ
ซ้ำ ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา
ส่วนข้อมูลแปลงใหญ่ลำไย เชียงใหม่มีจำนวน 31 แปลง จำนวน 2,045 ราย จำนวน 13,472 ไร่ ได้มาตรฐาน GAP แล้ว 1,441 ราย คิดเป็นร้อยละ 70 ส่วนแปลงใหญ่ลำไย (แปลงปี 2560) ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง มีจำนวน 110 ราย พื้นที่ 280.25 ไร่ มีนายประจวบ ทาก๊า เป็น ผู้จัดการแปลง โดยมีข้อมูลที่สำคัญดังนี้ 1. สามารถลดต้นทุนการผลิตในปีก่อนเข้าร่วมโครงการ จาก 7,500 บาท/ไร่ เป็น 6,000 บาท/ไร่ 2. สามารถเพิ่มผลผลิตได้จาก 1.5 ตัน เป็น 1.65 ตัน 3. สามารถขายผลผลิตในเกรด AA + A เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และผ่าน GAP แล้ว 50 ราย คิดเป็นร้อยละ 45.5 4. ตลาดจำหน่ายไปยังต่างจังหวัด เช่น สงขลา กรุงเทพฯ 5. มีการบริหารจัดการกลุ่มที่ชัดเจน เช่น การประชุมวางแผนการผลิตให้มีผลผลิตตลอดฤดูกาล
ขณะที่แปลงใหญ่ผึ้ง มี 5 แปลง จำนวน 161 ราย พื้นที่ประมาณ 12,127 รัง ส่วนแปลงใหญ่ผึ้งพันธุ์ ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง มีจำนวน 22 ราย จำนวน 5,137 รัง มีนายอินถา ถาวร เป็นประธานแปลงฯ โดยมีข้อมูลที่สำคัญดังนี้ 1. สามารถลดต้นทุนการผลิตในปีก่อนเข้าร่วมโครงการ จาก 3,200 บาท/รัง เป็น 2,500 บาท/รัง 2. สามารถเพิ่มผลผลิตได้จาก 25 กก./รัง เป็น 30 กก./รัง 3. สามารถขายผลผลิตในเกรดคุณภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และผ่าน GAP แล้ว 15 ราย คิดเป็นร้อยละ 75 4. ตลาดจำหน่ายไปยังในพื้นที่ร้อยละ 30 และมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ร้อยละ 70 5. มีการบริหารจัดการกลุ่มที่ชัดเจน เช่น การประชุมวางแผนการผลิตให้มีน้ำผึ้งตลอดฤดูกาล
เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563 06:46:38 น. (view: 10336)