News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
วันนี้ สดร.ชวนชม "สุริยุปราคาบางส่วน" ใน "วันครีษมายัน" กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ห้ามดูด้วยตาเปล่าและไม่เกี่ยวดวงเมือง
เชียงใหม่ 21 มิ.ย.- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชวนชมปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” ในวันนี้ที่เป็นวัน “ครีษมายัน” ที่มีเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเปลี่ยนสู่ฤดูหนาวของประเทศในซีกโลกใต้ โดยนายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายนนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” เหนือฟ้าเมืองไทย ช่วงเวลาประมาณ 13:00 - 16:10 น. สังเกตได้ทั่วประเทศ และยังตรงกับ “วันครีษมายัน” (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) วันที่เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด สำหรับประเทศไทยนั้น ในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 05:51 น. ตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18:47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานถึง 12 ชั่วโมง 56 นาที ส่งผลให้เป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่เข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุด นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
ทั้งนี้ในระยะเวลา 1 ปี โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น - ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ วันครีษมายัน วันที่กลางวันยาวนานที่สุด วันเหมายัน วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด วันวสันตวิษุวัตและวันศารทวิษุวัต วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน ซึ่งวันที่ 21 มิถุนายนปีนี้นับเป็นโอกาสดีที่จะได้สังเกตปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ทั้งสองในวันเดียวกัน ชมสุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทยในวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนนอกจากจะสังเกตการณ์ได้เองผ่านอุปกรณ์กรองแสงอาทิตย์แล้ว ยังสามารถรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ จาก 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ภาคกลาง : หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา และ ภาคใต้ : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติwww.facebook.com/NARITpage ตั้งแต่เวลา 13:00 - 16:10 น.
โดย สดร.มีการแนะนำวิธีชมสุริยุปราคาบางส่วนอย่างปลอดภัยด้วย อย่ามองด้วยตาเปล่า และปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องธรรมชาติทางดาราศาสตร์ไม่เกี่ยวกับดวงเมืองหรือความเชื่ออื่นใด http://www.narit.or.th/index.php/news/1139-narit-partial-solar-eclipse-2020-june-suggestion
เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2563 15:04:43 น. (view: 10336)