News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
หมอ มช.เตือน เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกระบาด ปี 63 ทั่วประเทศเสียชีวิตแล้ว 11 ราย ป่วยกว่า 1.6 หมื่นราย
ประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วกว่า 1.6 หมื่นราย เสียชีวิต 11 ราย แพทย์เตือนประชาชนทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกระบาดหนักช่วงหน้าฝน ย้ำป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด กำจัดลูกน้ำยุงลาย ใช้มาตรการควบคุมโรค 3-3-1 และ3 เก็บ 3 โรค หากมีไข้สูงเฉียบพลันให้รีบพบแพทย์ทันที
อ.นพ.ปรเมษฐ์ วินิจจะกูล หน่วยโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “จากสถานการณ์ไข้เลือดทั่วประเทศพบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 16,924 ราย เสียชีวิตแล้ว 11 ราย ภาคเหนือป่วยแล้ว 2,246 ราย เสียชีวิติ 3 ราย พบจังหวัดเชียงใหม่ 217 ราย มากเป็นลำดับที่ 59 ของประเทศ โดยอำเภอที่พบป่วยมากที่สุด คือ อำเภอเชียงดาว ,อำเภอฮอด และอำเภอแม่ริม ตามลำดับ (1มกราคม -9 มิถุนายน 2563 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข) ขอให้ประชาชนสังเกตอาการ หากมีไข้สูงในช่วงนี้ (38 องศาเซลเซียส)ตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป กินยาลดไข้แล้วไม่ลด ให้นึกถึงโรคไข้เลือดออกไว้ก่อนเสมอ หรือเมื่อไข้ลงแล้วยังมีอาการอ่อนเพลียมาก อาเจียนมาก ปวดท้อง กระสับกระส่าย เพ้อ ร้องกวนมากในเด็ก ตัวเย็น เหงื่อออก ซึม มีเลือดออกผิดปกติและปัสสาวะออกน้อยลง ให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็ว
ย้ำเตือนทุกหน่วยงานหากพบผู้ป่วยไข้เลือดออก หรือสงสัยไข้เลือดออกลงสอบสวนโรคภายใน 24 ชั่วโมง ให้ใช้มาตรการควบคุมโรค 3-3-1 ได้แก่ แจ้งพื้นที่ที่พบผู้ป่วยภายใน 3 ชม. ,ลงพื้นที่ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ภายใน 3 ชม. และพ่นสารเคมีภายใน 1 วัน และให้ความรู้มาตรการ 3 เก็บ 3 โรค ได้แก่ 1.เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งเพื่อไม่ให้ยุงลายพักอาศัย ,2.เก็บขยะ และเศษภาชนะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 3.เก็บน้ำ ให้มิดชิด ปิดฝาภาชนะ ภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ให้เปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน หรือปล่อยปลากินลูกน้ำ หรือใส่ทรายทีมีฟอสฆ่าลูกน้ำยุงลาย พร้อมให้ความรู้ แผ่นพับ แจกยาทากันยุง แจกทรายทีมีฟอส แก่ประชาชนในพื้นที่
การป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด
1. นอนในมุ้ง จะใช้มุ้งธรรมดาหรือมุ้งชุบสารเคมีก็ได้ หรือ มุ้งลวดแต่ต้องแน่ใจว่าในห้องนั้นไม่มียุงลาย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องนอนกลางวันควรมีมุ้งครอบ
2. สวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด แขนยาว กางเกงขายาวและควรใช้สีอ่อนๆ
3. ใช้ยาทากันยุง เช่น ก.ย.15 ซอฟเฟล หรือจุดยากันยุง แต่ควรระมัดระวังการใช้ด้วยเนื่องจากเป็นอันตรายโดยเฉพาะในเด็กและทารก
4. หมั่นอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ปราศจากกลิ่นเหงื่อไคล เพราะถ้ามีเหงื่อไคลจะช่วยดึงดูดยุงให้เข้ากัดมากขึ้นกว่าปกติ
5. ใช้สารไล่ยุงสมุนไพรเช่น ตะไคร้หอม มะกรูด หรือ สารไล่ยุง มีหลายรูปแบบ เช่น ชนิดขด ชนิดแผ่น ชนิดครีม เป็นต้น
6. เปิดพัดลมไล่ยุง หรือการใช้วิธีกำจัด เช่น การตบหรือตีให้ตาย ใช้กับดักยุง หรือใช้กับดักยุงไฟฟ้า
7. อยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่อับชื้น อับลมและต้องมีแสงสว่างเพียงพอ
----------------------------------------------
เขียนเมื่อ 02 กรกฎาคม 2563 13:16:40 น. (view: 10337)