News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
สสจ.เชียงใหม่ แนะประชาชนหลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแดดจัดเป็นเวลานาน ป้องกันโรคลมร้อน
นางวิภารัศมิ์ ทิพย์ปัญญา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วงเดือนเมษายน ตลอดจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนอบอ้าว หากร่างกายปรับสภาพไม่ทันต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคลมร้อน หรือ
ฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้ง่าย โดยเฉพาะใน 6 กลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรม กลางแดด เช่น ก่อสร้าง เกษตรกร ทหาร นักกีฬา 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4.คนอ้วน 5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยที่อยู่บริเวณใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ขณะเดียวกันในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้
สำหรับการป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคลมร้อน สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด หรือลดกิจกรรมที่ต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน สวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย สีอ่อน ระบายอากาศได้ดี สวมแว่น
กันแดด สวมหมวกปีกกว้าง ควรดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพื่อให้ร่างกายปรับอุณหภูมิให้คงที่ ชดเชยการเสียน้ำ
ในร่างกายจากเหงื่อออก หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถ ที่จอดอยู่กลางแจ้ง ความร้อนภายในรถจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นลมแดดสูงมาก
โรคลมร้อน อาจพบอาการที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น ผื่น ผดแดด บวมแดด ตะคริวแดด การเกร็งจากแดด ส่วนอาการที่รุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต ได้แก่ เพลียแดด คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง หากพบผู้มีอาการสงสัยว่าเจ็บป่วยจากสภาวะอากาศร้อน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยรีบนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้ดื่มน้ำเย็น ให้นอนราบและยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับใช้
พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรสายด่วน 1669
เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2562 13:53:47 น. (view: 10307)