News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ห่วงสุขภาพประชาชน พร้อมแนะวิธีป้องกัน 6 โรค ที่มักระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาว
วันนี้ (6 ต.ค. 63) นายแพทย์สุรเชษฐ์ อรุโณทอง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รองผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ในภาคเหนือมีอุณหภูมิลดลง อากาศเริ่มหนาวเย็นและบางพื้นที่มีฝนตก ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งโรคที่มักพบการระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาวมีอยู่ 6 โรคด้วยกัน ได้แก่ 1.โรคไข้หวัดใหญ่ มีอาการน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ มีไข้สูง ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ป้องกันด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น ซึ่งหากมีไข้นานเกิน 2วัน ควรไปพบแพทย์ทันที และควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่รุนแรงและเสียชีวิต 2. โรคปอดบวม มีอาการไอ มีเสมหะ เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ หายใจเร็ว หายใจหอบ มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย อ่อนเพลีย ป้องกันด้วยการหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนหนาแน่น หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น เมื่อเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรรักษาให้หายตั้งแต่เนิ่น ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และเมื่อมีไข้สูงในเด็กเล็ก ไม่ควรห่มผ้าหนา ไข้สูงนานกว่า 2 วัน ไอนานมากเกิน 7 วัน หายใจออกแรงมาขึ้น ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน
3.โรคหัด จะมีผื่นแดงขนาดเล็กและแบนราบ อาจเกิดขึ้นติดกันหลายจุดจนกลายเป็นปื้นขนาดใหญ่ที่มีรูปทรงไม่แน่นอน มักมีอาการคัน ป้องกันได้ด้วยวัคซีนป้องกันโรคหัด โรคคามทูมและโรคหัดเยอรมัน (MMR) โดยแนะนำให้ฉีดเข็มแรกเมื่อเด็กมีอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่อเด็กอายุ 2 ขวบครึ่ง 4. โรคสุกใส มีอาการภายใน 8-12 วัน เริ่มจากมีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและมีผื่นเริ่มจากลำตัว ใบหน้า และลามไปแขนขา มักมีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำอย่างรวดเร็วทันใจและตกสะเก็ดจะหลุดหายไปในเวลา 5-20 วัน ป้องกันได้ด้วยการฉีกวัคซีนป้องกันโรคในเด็กและผู้ใหญ่ 5. โรคมือ เท้า ปาก อาการเริ่มต้นจะคล้ายไข้หวัด มีตุ่มใส หรือแผลร้อนในเกิดขึ้นหลายแผลในปากและมีอาการเจ็บ มีอาการไข้เป็นระยะเวลา 5-7 วัน ป้องกันโดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเด็กเล็ก ควรล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทานและรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น หากเด็กมีอาการของโรคมือ เท้า ปาก ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมือ เท้า ปาก ต้องให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย และ 6. โรคอุจจาระร่วง จะมีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และอุจจาระบ่อย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด หากเป็นรุนแรงอาจมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย ป้องกันได้ด้วยการล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร เลือกรับประทานอาหารสดใหม่ และหมั่นกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน ซึ่งเป็นตัวพาหะนำโรค
ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 053-140774-6 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
เขียนเมื่อ 06 ตุลาคม 2563 16:30:27 น. (view: 10337)