News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
จังหวัดเชียงใหม่ เปิดฤดู การท่องเที่ยวดอกไม้บานที่เหมืองแก้ว ครั้งที่ 2 Agricultural tourism ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เกิดการสร้างงานในชุมชน และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
เชียงใหม่ 29 ต.ค.- ที่สวน I Love Flower Farm ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นางสาวชฎารัตน์ เมฆเจริญ เกษตรอำเภอแม่ริม พร้อมด้วยผู้แทนอำเภอแม่ริม ธ.ก.ส.และเกี่ยวข้องร่วมเปิดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามแนววิถีใหม่ โดยเกษตรอำเภอแม่ริมเปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่โดยอำเภอแม่ริม ร่วมกับเกษตรจังหวัดโดยสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ริม เทศบาลตำบลเหมืองแก้ว กลุ่ม Smart Farmer ผู้ผลิตไม้ดอกเพื่อการค้าและท่องเที่ยว และกลุ่มเกษตรกรปลูกดอกไม้ในตำบลเหมืองแก้ว ร่วมกันเปิดงานฤดูกาลการท่องเที่ยวชมทุ่ง ดอกไม้บานที่เหมืองแก้ว ครั้งที่ 2 ขึ้น ภายใต้กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือ Agricultural tourism จากแนวคิดการเปิดสวนดอกไม้ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมก่อนที่จะมีการตัดช่อดอกส่งขาย ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เกิดการสร้างงานในชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และเชื่อมโยงธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรของอำเภอแม่ริม โดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพไม้ดอกสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในยุค New Normal ที่ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 อย่างหนักในตอนนี้ด้วย
สำหรับตำบลเหมืองแก้ว มีเกษตรกรปลูกไม้ดอกที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 78 ราย มีพื้นที่ จำนวน 203 ไร่ โดยมี นางสาวณวิสาร์ มูลทา Smart Farmer ต้นแบบด้านการผลิตไม้ดอกเพื่อการค้าแบบครบวงจร และกลุ่มสมาชิก ผลิตไม้ดอก อาทิ ดอกมากาเร็ต พีค๊อก สร้อยไก่ญี่ปุ่น และเบญจมาศ จำหน่ายโดยใช้หลัก “ตลาดนำการผลิต” มีการสั่งซื้อล่วงหน้า ทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตไม้ดอกได้ตามความต้องการของตลาด ลดปัญหาด้านราคาสินค้าตกต่ำและสินค้าล้นตลาด และมีผลผลิตจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี ถือเป็นการปลุกกระแสให้เกษตรกรมีกำลังใจและได้มีโอกาสสร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชนตนเองด้วย
จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว เข้ามาชมความงามของดอกไม้ชนิดต่างๆ หลากหลายสีสัน ซึ่งแต่ละสวนจะมีอัตราค่าเข้าชม คนละ 50 บาท และค่าบริการนั่งรถพ่วงเข้าไปยังสวนดอกไม้ คนละ 20 บาท หรือบางสวนที่ทำก็มีค่าบริการแตกต่างกันไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน ในการร่วมกันบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป.
เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2563 16:43:55 น. (view: 10337)