News & Activity
ข่าวและกิจกรรม
มช.คว้ารางวัลยอดเยี่ยม ครองถ้วยพระราชทาน กระทงใหญ่ ประจำปี 2563 เทศกาลยี่เป็ง(ลอยกระทง)
เทศบาลนครเชียงใหม่ จัดงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2563 ขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2563 โดยมีรูปแบบการจัดกิจกรรมที่กระชับและสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal ในการป้องกันโรคโควิด-19 โดยกิจกรรมการประกวดกระทงใหญ่ชิงถ้วยพระราชทานฯ จากที่เป็นขบวนแห่ในทุกๆ ปี ได้มีการเปลี่ยนเป็นการจัดแสดงการประกวดกระทงใหญ่ ชิงถ้วยพระราชทานฯ 7 จุดรอบคูเมืองเชียงใหม่ ได้แก่บริเวณข่วงท่าแพ พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ประตูช้างเผือก ประตูสวนดอก แยกตลาดสมเพชร ประตูเชียงใหม่ และบริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ให้ประชาชนได้เข้าชม สำหรับผลการประกวดกระทงใหญ่ประจำปี 2563 พบว่า กระทงยอดเยี่ยม ได้รับถ้วยพระราชทานบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนรางวัลชนะเลิศ คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองได้แก่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา
โดยแนวคิดในการออกแบบรถกระทง มช.“เฉลิมทิพยรัฏฐ์ นพบุรงามวัฒน์สง่านคร”ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาค จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง อำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวมด้วยสัญลักษณ์ช้างชูคบเพลิง อันเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เป็นสัญลักษณ์แห่งบารมี ขบวนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้อัญเชิญพญาช้างเอราวัณ อันเป็นช้างที่มีพละกำลัง เป็นพาหนะของพระอินทร์อันสถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กำหนดให้เป็นประธานของรถกระทง ซึ่งมีตราพระราชลัญจกรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ประทับอยู่ในวิมานมาลาบนหลังช้างเอราวัณ ตามคติความเชื่อเทวราชาของคนไทย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพ ประดับประดาด้วยต้นปาริชาติอันเป็นดอกไม้ทิพย์
ช้างเอราวัณ นับเป็นเจ้าแห่งช้างทั้งปวงในสากลจักรวาล มีรูปร่างสูงใหญ่เหมือนภูเขา ผิวกายเผือกผ่อง เป็นพาหนะคู่พระทัยของพระอินทร์ เป็นสัญลักษณ์ของการกระทำความดี และสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ส่วนด้านหน้าและท้ายขบวนประกอบไปด้วยบริวารช้างมงคลทั้ง 4 เชือก
ช้างแต่ละหัวมีงาเจ็ดงา แต่ละงามีสระโบกขรณีเจ็ดสระ แต่ละสระมีกอบัวเจ็ดกอ แต่ละกอมีดอกบัวเจ็ดดอก แต่ละดอกมีกลีบเจ็ดกลีบ แต่ละกลีบมีเทพธิดาฟ้อนรำรายรอบ
ด้านหน้ามีพญานกยูง(มยุเรศ) เป็นสัญลักษณ์แทนกษัตริย์ แสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง สว่างไสว ดั่งพระอาทิตย์ และความสง่างาม ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา
ด้านหลังมีเครื่องสัตตภัณฑ์ สัญลักษณ์แห่งการจำลองเขาพระสุเมรุ ตามคติความเชื่อศูนย์กลางจักรวาลและการกำเนิดโลก
นาฏดุริยการ ได้ริรังสร้างสรรค์จำลองนาฏยกรรมของเทพธิดาทั้ง 33 องค์ ประกอบเสียงทิพยดนตรีโดยใช้ท่วงทำนองเดิมของเพลงพร้าวไกวใบ เรียบเรียงแต่งทำนอง สอดประสานเพิ่มเติมโดยใช้การแปรทำนองหลักและออกแบบเสียงประสานใหม่ให้เชื่อมองค์ประกอบต่างๆ ในดนตรี ทำให้เกิดความสอดคล้องกับความประณีตของรถกระทง
การแสดงประกอบ “เฉลิมทิพยรัฏฐ์ นพบุรงามวัฒน์สง่านคร” ชุดนี้จึงเป็นนำเสนอให้เห็นถึงความศิวิไลซ์ที่เชื่อมโยงระหว่างประเพณีวัฒนธรรมและนวัตกรรม รายละเอียดต่างๆ ถูกเพิ่มลงบนศิลปะแบบดั้งเดิม โดยยังคงอัตลักษณ์ไว้อย่างดีเช่นเมืองเชียงใหม่ที่พร้อมจะพัฒนาก้าวหน้าทั้งยังรักษาศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ได้อย่างงดงาม
เขียนเมื่อ 02 พฤศจิกายน 2563 09:40:44 น. (view: 10336)