News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

เปิดสภาพลเมืองครั้งที่ 3/2563 เพราะรายได้เทศบาลลดจึงกระทบกับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ : ผลจาก พรบ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 สภาพลเมืองเชียงใหม่จัดการประชุมเปิดสภาครั้งที่ 3/2563 เรื่อง “เพราะรายได้เทศบาลลดจึงกระทบคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่? : ผลจาก พรบ. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562” ณ ศาลาสหกิจ สำนักงานเทศบาลตำบลท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้นำเสนอปัญหาการจัดเก็บรายได้และผลกระทบตอการให้บริการสาธารณะต่อประชาชน เกิดแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ เป็นประธานการเปิดสภาพลเมืองครั้งนี้



องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลทั้งเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล มีรายได้จากภาษีที่จัดเก็บเอง 3 ประเภท คือ 1.ภาษีป้าย 2.ภาษีบำรุงท้องที่ 3.ภาษีที่ดิน เดิมจัดเก็บตาม พรบ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475  ต่อมาในปี 2559 มีการนำเสนอร่าง พรบ. เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมัย คสช. และออกเป็นกฎหมาย พรบ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ตราใช้แทน ซึ่งควบรวมภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนที่ดินเข้าด้วยกัน กลายเป็น พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 โดยกฎหมายใหม่ได้เปลี่ยนการคำนวณการจัดเก็บ คำนิยามของการจัดเก็บ การกำหนดอัตราการจัดเก็บ มีผลให้รายได้ของเทศบาล อบต. ในพื้นที่เขตเมืองลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อการให้บริการสาธารณะ บริการประชาชนที่ต้องลดคุณภาพลง หรืองดให้บริการ



นายกทวี ณ ลำพูน ประธานสันนิบาตเทศบาลลำพูน ผู้ขอเปิดสภาพลเมือง เห็นว่าการจัดเก็บภาษีตามพรบ.ฉบับนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจัดการงบประมาณในการดำเนินงานตามโครงการต่างๆเพื่อบริการประชาชน เพราะเมื่อรายได้ท้องถิ่นลดลง ทำให้ต้องมีการลดการจ้างงานพนักงาน บางโครงการพัฒนาท้องถิ่นต้องชะลอหรือระงับ ทำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นไม่ได้รับการบริการอย่างเต็มที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงขอฝากให้ผู้เกี่ยวข้องทบทวนและเรียกร้องให้



นายกสมคิด  เลิศเกียรติดำรงค์ ประธานสันนิบาตเทศบาลเชียงใหม่ ผู้ขอเปิดสภาพลเมือง เห็นว่าเมื่อรายได้ขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริหารงานบุคคลภายในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สวัสดิการลูกจ้างถูกลดหรือถูกเลิกจ้าง  แต่ละเทศบาลหรือ อบต. กำหนดให้มีงบประมาณสำหรับจ่ายบุคลาการภายในองค์กรไม่เกิน 40% ของรายได้ทั้งหมด เมื่อภาษีลดจึงต้องปรับการจัดการภายในองค์กร  จำนวนผู้ให้บริการลด ประชาชนในท้องถิ่นที่รับผิดชอบจึงได้รับบริการในคุณภาพที่ลดลง  ยกตัวอย่างในเทศบาลเขตเมือง มีหอพักในท้องถิ่นจำนวนมาก จากเคยเก็บได้หลายหมื่นบาทต่อปี แต่ตาม พรบ.ภาษีใหม่ จัดเก็บได้เพียงหลักร้อยบาท  แม้จะถือว่าเป็นสิ่งปลูกสร้าง แต่ก็สมควรมีการจัดเก็บภาษีที่มากกว่าบ้านเรือนเพราะหอพักเป็นสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ จึงเสนอให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมจำแนกสิ่งปลูกสร้างในท้องถิ่น



 



ฝ่ายข้อมูลสภาพลเมือง คุณอภิชาต เทพชา ปลัดเทศบาลตำบลบ้านกลาง จ.ลำพูน ให้ข้อมูลว่า เดิมท้องถิ่นสามารถจัดเก็บภาษีจากท่าอากาศยานได้ 16 ล้านบาท/ปี แต่ตาม พรบ.ภาษีใหม่ จัดเก็บได้ 6 ล้านบาท การเก็บภาษีตาม พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ทำให้รายได้ของเทศบาล อบต. หายไปมากกว่าร้อยละ 50-80 ทั้งๆที่สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นของธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ทั้งในและนอกซึ่งมีศักยภาพทางธุรกิจ และใช้ทรัพยากรในพื้นที่ จึงควรมีบทบาทในการบำรุงท้องถิ่น  



ตัวอย่างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านกลาง จ.ลำพูน โครงสร้างการจัดจ้างบุคลากรเพื่อบริการประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมากต่อ มีการปรับลดเงินเดือนพนักงานเก็บขยะ ครูอัตราจ้างในสถานรับเลี้ยงเด็ก และพนักงานบริการอื่นๆเหลือเพียง 7,000 บาท/เดือนสวัสดิการขั้นพื้นฐานในท้องถิ่นถูกลดทอน เป็นที่น่ากังวลว่าหากยังคงใช้การจัดเก็บตามอัตราภาษีตาม พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 จะส่งผลต่อประชาชนผู้ที่เคยได้รับประโยชน์และการดูแลจากองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น  การจัดเก็บภาษีควรเป็นการจัดสรรที่เป็นธรรม ไม่ควรเอื้อให้กับภาคธุรกิจจนเกินไป เพราะถือว่าภาคธุรกิจใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นและควรมีบทบาทรับผิดชอบร่วมในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้นจึงควรมีวิธีการปรับปรุง พรบ.นี้ให้เอื้อต่อท้องถิ่นมากขึ้น กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง



 



อ.ไพสิฐ พาณิชยกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งคำถามว่า รายได้ที่หายไปที่จัดเก็บจากธุรกิจท้องถิ่น หายไปไหน ซึ่งขัดหลักการปกครองตนเองของท้องถิ่นที่ขัดรัฐธรรมนูญแต่การปกครองตนเองต้องหารายได้ได้ด้วย ดึงเงินท้องถิ่นที่ท้องถิ่นควรได้ไปอยู่ในกระเป๋าใคร กฎหมายนี้ไปล้วงเงินท้องถิ่นไปไว้ที่ไหน ทำเป็นภาพรวมทั้งประเทศ เป็นโจทย์สภาพลเมืองว่ากฎหมายฉบับนี้ทำมาแล้ว ใครได้ใครเสีย อยู่ความเป็นธรรมในการอยู่ร่วมกันหรือไม่



 



ประเด็นสำคัญอ้างถึงการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงหลักการของกฎหมายทั้งกฎหมายท้องที่ ราคากลาง กฎหมายเดิมอ้างว่าให้ดุลพินิจแก่พนักงานท้องถิ่นในการประเมินต้องการลดโดยเปลี่ยนหลักการมาประเมินมูลค่าของทรัพย์สินแทนเป็นปัญหาในเชิงการจัดเก็บ เพราเปลี่ยนฐานการจัดเก็บการประเมินยากมากในการประเมินที่เป็นธรรมอย่างไร แต่อาจเปลี่ยนให้ประชาชนมาแจ้งว่าใช้ประโยชน์เท่าใดก็ ช่วงการเปลี่ยนผ่านต้องรื้อระบบเดิมที่มีประสิทธิภาพที่เป็นธรรมมากกว่า ปัญหาอีกอันที่ใหญ่ คือ หลายเรื่องเป็นประโยชน์ที่ท้องถิ่นควรได้ไม่ถูกนำมาคิดในการประเมินแต่ในทางกฎหมายเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินได้แต่ภาษีใหม่จัดพวกเครื่องจักร ภาษีที่จัดสรรจริงหรือไม่ แล้งหน้าที่ของรัฐควรจุนเจือใครในมาตรการทางภาษี อเป็นการให้ข้อมูลจต้องศึกษาข้อมูลให้มากกว่าเดิม



รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สะท้อนในมุมมองนักวิชาการว่า ความเป็นธรรมของการกระจายภาระภาษีถือเป็นสิ่งสำคัญในการจัดเก็บและใช้ประโยชน์จากภาษีที่จัดเก็บในท้องถิ่น  ผลการเก็บข้อมูลที่ทดลองทำ เดิมท้องถิ่นเคยเก็บภาษีที่ดิน 36,000 ล้านทั่วประเทศ เมื่อปรับตามอัตราการเก็บภาษีของ พรบ.ปี 2562 รายได้จากภาษีที่จัดเก็บจากท้องถิ่นในเขตเมืองหรือเขตอุตสาหกรรมลดลง แต่มีท้องถิ่นในชนบทบางแห่งมีรายได้สูงขึ้น แต่ไม่ได้มากขึ้นแบบน่าตกใจ รายได้ท้องถิ่นลดลงลดลง 13% จากฐานเดิม  ผู้ประกอบกิจการพาณิชย์เล็กกลางใหญ่ตามราคาประเมิน พอแยกย่อยพบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ได้ประโยชน์มากกว่าขนาดกลางและเล็ก และสุดท้ายคือที่ของรัฐ ที่ราชพัสดุ เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรม สนามกอล์ฟ ที่อยู่อาศัย เฉพาะในที่ดอนแก้ว ที่ของท้องถิ่นมีส่วนราชการใช้ประโยชน์หลายที่ซึ่งที่ผ่านมาไม่เสียภาษีให้ท้องถิ่นเลย ดังนั้น จึงควรมีการติดตามและตรวจสอบการจัดเก็บภาษีจากั้งประชาชน เอกชน และผู้ใช้ประโยชน์ร่วมกับภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน



ทั้งนี้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า พรบ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ควรมีการทบทวนคำนิยาม อัตราการจัดเก็บภาษี รวมทั้งกระบวนการจัดเก็บภาษี เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก้ผู้เสียภาษีและรักษาผลประโยชน์ขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นในการบริหารภาษีเพื่อจัดสรรระบบสาธารณูปโภคและสวัสดิการแก่ประชาชนนท้องถิ่นที่รับผิดชอบ

เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2563 15:55:13 น. (view: 7223)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง