News & Activity

ข่าวและกิจกรรม

สดร. ผนึกกำลังนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ 28 หน่วยงาน  จัดตั้งภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย  

 



สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นแกนนำระดมคณาจารย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจาก 3 องค์การมหาชน 1 หน่วยงานรัฐ   23 มหาวิทยาลัย และ 1 สมาคม ลงนามจัดตั้งภาคีความร่วมมือวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย บูรณาการกำลังคน และทรัพยากรทางการวิจัยร่วมกัน เพื่อกำหนดแผนที่นำทางของการวิจัยที่เชื่อมโยงกับการศึกษาคุณภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมจัดประชุมนัดแรกชูประเด็นเร่งด่วน ศึกษาวิเคราะห์ต้นตอปัญหา PM 2.5 และคุณภาพอากาศโดยรวมในประเทศไทย



ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า สดร. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ซึ่งรวมถึงคุณภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังจากดำเนินการมาระยะหนึ่ง พบว่าในประเทศไทย ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศในประเทศไทยต่างกระจายอยู่ตามหน่วยงานรัฐ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทำให้ผลงานวิจัยที่ได้กระจัดกระจาย ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับ มลภาวะทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 และการคาดการณ์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สดร. จึงเชิญคณาจารย์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานวิจัยบรรยากาศในประเทศไทย จนท้ายสุดทุกฝ่ายได้แสดงเจตจำนงร่วมกัน ในการจัดตั้งเป็นภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย เพื่อบูรณาการและขยายขอบเขตความเชี่ยวชาญหลักของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงประสานความร่วมมืองานวิจัยด้านบรรยากาศและคุณภาพอากาศในประเทศไทย ให้มีการทำงานที่สอดประสานกัน เนื่องจากปัญหาด้านบรรยากาศมีความหลากหลายและซับซ้อนเกินกว่าหน่วยงานเดียวจะทำได้



ภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันจัดทำแผนที่นำทางของการวิจัยแบบบูรณาการ บูรณาการวิจัยบรรยากาศที่เชื่อมโยงกับการศึกษาคุณภาพอากาศของประเทศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  จัดสร้างห้องปฏิบัติการกลางที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยสนับสนุนการวิจัยบรรยากาศ พัฒนาระบบฐานข้อมูล สร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์บรรยากาศ สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยบรรยากาศ และผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง 



ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประธานในพิธีกล่าวว่า ปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจก เป็นเหตุให้นานาประเทศหันมาสนใจและตระหนักถึงผลกระทบและความเสียหายในด้านต่างๆ ที่จะตามมา สำหรับประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศ นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย และปัญหาการเกิดมลพิษอื่นๆ ซึ่งต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และต้องอาศัยความร่วมมือจาหลายฝ่าย ทั้งหน่่วยงานและบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ นำองค์ความรู้มาบูรณาการให้เกิดผลสัมฤทธิ์              ที่เป็นรูปธรรม เพื่อศึกษาสาเหตุและกลไกการเกิดมลพิษทางอากาศ รวมทั้งหาแนวทางป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ 



ขอขอบคุณหน่วยงานภาคีทั้ง 28 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา และสมาคมที่เกี่ยวข้องที่เห็นความสำคัญและมุ่งมั่น ตั้งใจ ผนึกกำลังกันก่อเกิดเป็นภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย ร่วมมือกันต่อสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน ให้บรรลุเป้าหมายภารกิจร่วมกัน ตอบโจทย์คุณภาพอากาศของประเทศไทย ภายใต้นโยบาย “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” เพื่อให้การพัฒนาและแก้ปัญหาสามารถเดินหน้าไปได้โดยเร็ว ลดปัญหาและอุปสรรค ใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สร้างและพัฒนาวงการวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศของไทยให้เข้มแข็ง พัฒนาบุคลากรให้เชี่ยวชาญ ก่อเกิดประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาประเทศต่อไป



รายนาม 28 หน่วยงาน ที่ร่วมลงนามความร่วมมือภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย (Thailand Consortium for Atmospheric Research: TCAR) มีดังนี้

1.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

2.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

3.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)

4.กรมควบคุมมลพิษ

5.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

6.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

7.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

8. มหาวิทยาลัยพะเยา

9.มหาวิทยาลัยศิลปากร

10.สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

11.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

12.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

13.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

14.มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

15.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

16.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

17.มหาวิทยาลัยทักษิณ

18.มหาวิทยาลัยมหิดล

19. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

20.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

21.มหาวิทยาลัยขอนแก่น

22.มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

23.มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

24.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

25.มหาวิทยาลัยแม่โจ้

26.มหาวิทยาลัยนเรศวร

27.สถาบันพระบรมราชชนก

28.สมาคมสถาบันอุดมศึกษาสิ่งแวดล้อมไทย

เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2563 13:49:14 น. (view: 10336)

รูปภาพ-เอกสารประกอบ




FM100 CMU Logo
สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ 50200

Call us

On air : 053-942711-2
Office : 053-942710

Email & Fax

EMAIL : fm100@cmu.ac.th
          fm100cmu@yahoo.com

LINE :  FM100CMU 

 

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน
https://forms.gle/e4E3rYTnv3LvxcxN8

ติดตาม FM100 ได้ทุกช่องทาง

รับฟังรายการสดได้ทาง